วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รถแทรกเตอร์

 
รถแทรกเตอร์ หมายถึง ยานที่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัว โดยจะถูกใช้เป็นตัวต้นกำลังในการทำการเกษตร โดยเริ่มจากการเตรียมพื้นดิน การปลูก การบำรุงรักษา ฉีดยา ฉีดปุ๋ย ตลอดจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น
แทรคเตอร์สำหรับการเกษตรและรถไถเดินตาม
รถแทรกเตอร์
        รถแทรกเตอร์ คือ ยานพาหนะชนิดพิเศษที่สามารถส่งกำลังออกไปยังเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร เช่น ไถหัวหมู ไถกระทะ ไถดินดาน เครื่องพ่นสารเคมีเพื่อทำให้การปฏิบัติงานในการเกษตรบรรลุผลสำเร็จ
         การส่งผ่านกำลังของรถแทรกเตอร์ออกไปใช้ประโยชน์ ส่วนใหญ่มี 2 ทาง ดังต่อไปนี้
        1. ทางล้อ ทำให้ล้อยึดแน่นอยู่กับดิน ขณะที่รถแทรกเตอร์กำลังปฏิบัติงาน ทำให้รถแทรกเตอร์ดัน หรือฉุดเครื่องมือได้
        2. ทางเพลาอำนวยกำลัง ทำให้รถแทรกเตอร์ส่งกำลังออกไปขับเครื่องมือทุ่นแรงในการเกษตรชนิดอื่นได้ เช่น เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น
         กำลังของรถแทรกเตอร์ได้มาจากเครื่องยนต์ ซึ่งมักจะเรียกเป็นแรงม้าหรือกิโลวัตต์ (1 แรงม้า = 746 วัตต์ และ 1 กิโลวัตต์ = 1000 วัตต์) รถแทรกเตอร์มีกำลังให้เลือกใช้ได้ตั้งแต่ขนาด 3 แรงม้า (2.238 กิโลวัตต์) จนถึงขนาดใหญ่ 300 แรงม้า (223.8 กิโลวัตต์)
ลักษณะทั่วไป
        รถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการเกษตรมีรูปร่างหลายแบบ แต่ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยเครื่องยนต์ต้นกำลัง อุปกรณ์พ่วงลากและขับหมุนเครื่องมือทุ่นแรง
         โดยทั่วไป รถแทรกเตอร์มีลักษณะดังต่อไปนี้
        1. เครื่องยนต์มีรอบต่ำแต่มีแรงบิดสูง ทั้งนี้เพราะต้องการให้เกิดแรงฉุดลากที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน
        2. ล้อหลังใหญ่และหน้ากว้าง เพื่อรับน้ำหนักที่เกิดขึ้นในขณะทำงาน นอกจากนั้นยังทำให้ แรงเสียดทานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลให้แรงฉุดลากเพิ่มขึ้นด้วย
        3. ตัวถังรถสูง เพื่อให้วิ่งเข้าไปทำงานระหว่างแถวพืชและคันดิน หรือร่องคูได้สะดวก
        4. มีอุปกรณ์ที่ให้ความปลอดภัย เช่น กระจกกว้างมองเห็นได้รอบด้าน เบาะนั่งสบาย ลุกออกสะดวกและรวดเร็วในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ โครงหลังคาแข็งแรง
ประเภทของรถแทรกเตอร์
         การแบ่งประเภทของรถแทรกเตอร์ขึ้นอยู่กับกำลังของเครื่องยนต์ ถ้ากำลังของเครื่องยนต์ต่ำกว่า 25 แรงม้า (18.65 กิโลวัตต์) เรียกว่ารถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก ถ้ากำลังของเครื่องอยู่ระหว่าง 25 แรงม้าถึง 50 แรงม้า (18.65 กิโลวัตต์ ถึง 37.3 กิโลวัตต์) เรียกว่ารถแทรกเตอร์ขนาดกลาง ส่วนรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ คือรถที่มีกำลังเครื่องยนต์มากกว่า 50 แรงม้า (37.3 กิโลวัตต์) ขึ้นไป
        รถแทรกเตอร์ตีนตะขาบเป็นรถขนาดใหญ่มาก ใช้สำหรับทำงานหนัก เช่น ทำถนน สร้างเขื่อน และเปิดป่า กำลังที่ใช้ฉุดและดันเครื่องมือทุ่นแรงได้มาจากเครื่องยนต์ และการตะกุยดินของล้อตีนตะขาบ ซึ่งมีหน้าสัมผัสที่ยึดพื้นที่ไว้ได้มากกว่าล้อยาง แต่โดยปกติเกษตรกรจะไม่ซื้อรถประเภทนี้ เพราะมีราคาแพงถ้าจำเป็นที่จะใช้งานก็อาจจะเช่า หรือว่าจ้างจากบริษัทผู้รับเหมาได้ อีกทั้งยังเสียค่าใช้จ่ายต่ำอีกด้วย อย่างไรก็ตามรถแทรกเตอร์ประเภทนี้เหมาะสำหรับงานปรับพื้นที่ การจัดรูปที่ดิน และงานป่าไม้
        รถแทรกเตอร์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ เป็นที่นิยมใช้กันมากในงานเกษตร โดยได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการทำงานประเภทต่างๆ
        รถแทรกเตอร์เหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ล้อยางซึ่งปรับระยะห่างได้ โดยอาจจะปรับให้กว้างหรือแคบได้ตามระยะห่างของแถวพืชที่ปลูก
        รถแทรกเตอร์แบบล้อยางแบ่งออกเป็นแบบขับเคลื่อน 2 ล้อ และแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยที่แบบขับเคลื่อน 2 ล้อ จะมีขนาดล้อหน้าเล็กกว่าแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และเป็นแบบที่นิยมใช้กันมาก อย่างไรก็ตามรถแทรกเตอร์ขับเคลื่อน 4 ล้อจะมีแรงฉุดลาก ประสิทธิภาพของการขับเคลื่อน และการเลี้ยวดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบรถแทรกเตอร์ 2 คันที่มีน้ำหนักเท่ากัน
        นอกจากนั้นยังสามารถติดตั้งเครื่องมือทุ่นแรงในการเกษตรเข้ากับรถแทรกเตอร์ประเภทนี้ได้ โดยติดกับระบบแขนยกอุปกรณ์แบบ 3 จุด (Three point linkage) ส่วนการบังคับให้อุปกรณ์สูงขึ้นจากพื้นดิน หรือลดลงนั้น อาศัยคันบังคับของระบบไฮดรอลิก
         การใช้ระบบไฮดรอลิกกับอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ได้ประโยชน์หลายประการ แต่ประการที่สำคัญคือ ให้ความสะดวกในการนำอุปกรณ์จากไร่หนึ่งไปยังอีกไร่หนึ่ง อีกทั้งยังทำให้การกลับรถบริเวณท้ายไร่รวดเร็วขึ้น และประหยัดเนื้อที่อีกด้วย
         รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กเป็นรถแทรกเตอร์ที่มีราคาถูกและนิยมใช้กันมากในฟาร์มขนาดเล็ก
        รถไถเดินตาม เป็นรถแทรกเตอร์ที่มีขนาดเล็กที่สุดและถูกที่สุด แต่เนื่องจากว่าผู้ปฏิบัติงานต้องเดินตามหลังเพื่อบังคับรถชนิดนี้ จึงทำให้การปฏิบัติงานในไร่นาน่าเบื่อ
ส่วนประกอบและการทำงาน
         (1) เครื่องยนต์ต้นกำลัง
        เครื่องยนต์ต้นกำลังของเครื่องมือทุ่นแรงในการเกษตร ตลอดจนรถแทรกเตอร์ โดยทั่วไปคือเครื่องยนต์จุดระเบิดภายใน หรือเครื่องยนต์ดีเซล กำลังที่ได้จากเครื่องยนต์ชนิดนี้จะถูกถ่ายทอดไปยังชิ้นส่วนและระบบต่างๆ เช่น ล้อขับเคลื่อนหลัง เพลาอำนวยกำลัง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
        เครื่องยนต์ดีเซล เป็นเครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้ภายในอีกประเภทหนึ่งที่น้ำมันดีเซล หรือน้ำมันโซล่า จะถูกผสมกับอากาศที่กำลังถูกอัดตัวอย่างรุนแรง และมีความร้อนสูงภายในห้องเผาไหม้ กลายเป็นเชื้อระเบิดที่มีความร้อนสูง โดยการฉีดน้ำมันที่มีความดันสูงให้เป็นฝอยอย่างละเอียดและรุนแรงภายในกระบอกสูบ เพื่อทำให้น้ำมันกับอากาศที่มีความร้อนสูงนั้นได้ผสมกันอย่างหมดจด จนกลายเป็นเชื้อระเบิดเกิดการระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงและให้กำลังงานสูงในที่สุด ซึ่งจะทำให้เครื่องยนต์เกิดการทำงานขึ้นตามจังหวะของการทำงานนั้นๆ ของเครื่องยนต์ เช่น จังหวะดูด จังหวะอัด

        โดยปกติน้ำมันดีเซลความดันต่ำจากถัง จะถูกบังคับให้เคลื่อนที่ไปโดยผ่านกรรมวิธีต่างๆของระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิง จนกลายเป็นน้ำมันที่สะอาดและมีความดันสูง เพื่อที่จะส่งไปยังหัวฉีด ให้ฉีดออกผสมกับอากาศที่มีความร้อนสูง กลายเป็นเชื้อระเบิดที่ร้อนจนเกิดการระเบิดขึ้นตรงตามกำหนดเวลาอย่างถูกต้อง สำหรับอากาศที่ถูกอัดจนมีความร้อนสูงภายในกระบอกสูบนั้น มาจากอากาศในบรรยากาศซึ่งถูกดูดให้เคลื่อนที่ผ่านเข้ามาสู่กระบอกสูบ และผสมกับน้ำมันดีเซลภายในห้องเผาไหม้ในที่สุด ของเสียที่เกิดขึ้นจากการระเบิดภายในกระบอกสูบ จะถูกผลักดันให้ออกจากกระบอกสูบอย่างรวดเร็วตามจังหวะการทำงานของเครื่องยนต์ ผ่านท่อไอเสีย และออกสู่บรรยากาศภายนอก เครื่องยนต์ดีเซลจำแนกออกเป็นเครื่องยนต์หมุนเร็ว เครื่องยนต์หมุนปานกลาง และเครื่องยนต์หมุนช้า
         เครื่องยนต์ดีเซลหมุนช้าคือ เครื่องยนต์ที่เพลาข้อเหวี่ยงหมุนไม่เกินนาทีละ 500 รอบต่อนาที
         เครื่องยนต์ดีเซลหมุนปานกลาง เป็นเครื่องยนต์ที่เพลาข้อเหวี่ยงหมุนอยู่ระหว่าง 500-1000 รอบต่อนาที
        เครื่องยนต์ดีเซลหมุนเร็ว หมายถึงเครื่องยนต์ที่เพลาข้อเหวี่ยงหมุนเร็วกว่า 1000 รอบต่อนาที
คุณสมบัติของเครื่องยนต์ดีเซล
        1. เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือน้ำมันโซล่าเป็นเชื้อเพลิง
        2. อากาศบริสุทธิ์เท่านั้นที่เข้าไปภายในกระบอกสูบในจังหวะดูดของการทำงานของเครื่องยนต์
        3. ปั้มน้ำมันความดันสูง เป็นตัวทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงความดันต่ำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงความดันสูง
        4. หัวฉีดเป็นตัวฉีดให้น้ำมันพุ่งเข้าไปภายในห้องเผาไหม้ของกระบอกสูบเป็นฝอยที่ละเอียดและรุนแรง
        5. เป็นเครื่องยนต์ที่ทำให้เกิดอัตราการอัดตัวของอากาศในกระบอกสูบสูง
ข้อดีของเครื่องยนต์ดีเซล
        1. เป็นเครื่องยนต์ที่สามารถใช้ได้กับน้ำมันข้นที่มีราคาถูกได้
        2. เครื่องยนต์ขนาดเท่ากัน เครื่องยนต์ดีเซลจะเป็นเครื่องยนต์ที่ให้กำลังม้าสูงกว่าเนื่องจากเป็นเครื่องที่ให้อัตราการอัดตัวของอากาศสูงกว่า
        3. ไม่มีระบบจุดระเบิดของเครื่องยนต์ที่ประกอบด้วยกระแสไฟฟ้า และมีอุปกรณ์น้อยชิ้น
        4. การจุดระเบิดก่อนเวลาหรือการชิงจุดของเชื้อระเบิดมีน้อย และหลีกเลี่ยงได้
        5. เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้อย่างประหยัด และสามารถควบคุมการใช้น้ำมันได้อย่างแน่นอน
        ข้อเสียของเครื่องยนต์ดีเซล
        1. เป็นเครื่องยนต์ที่มีน้ำหนักต่อกำลังม้าสูง
        2. เครื่องยนต์มีราคาแพง เพราะต้องออกแบบและสร้างให้มีความแข็งแรงสูงเนื่องจาก เครื่องยนต์ให้กำลังม้าสูง
        3. การสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์สูง และมีเสียงดังมาก
        4. อุปกรณ์ในระบบน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์มีราคาสูง
        5. เครื่องยนต์ติดยากเมื่อเครื่องยนต์สึกหรอ หรือเครื่องยนต์เสียกำลังอัดลงบ้าง ในฤดูหนาวที่อากาศเย็น
         (2) ระบบถ่ายทอดกำลัง
        เครื่องยนต์จะถ่ายทอดกำลังไปยังล้อ เพลาอำนวยกำลัง ปั้มไฮดรอลิค และอื่นๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ สำหรับส่วนประกอบที่สำคัญของระบบนี้มีดังนี้
คลัช
        คลัชในรถแทรกเตอร์ประกอบด้วยคลัชขับเคลื่อนและคลัชเพลาอำนวยกำลัง คลัชขับเคลื่อนซึ่งทำหน้าที่ตัดและต่อการส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปขับล้อให้รถแทรกเตอร์เคลื่อนที่ คลัชเพลาอำนวยกำลังทำหน้าที่ตัดและต่อการส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปหมุนเพลาอำนวยกำลัง เพื่อส่งกำลังออกไปใช้ภายนอกรถแทรกเตอร์
เกียร์
         เกียร์คือส่วนที่ทำหน้าที่แบ่งขั้นความเร็ว และเพิ่มกำลังฉุดลากของล้อรถแทรกเตอร์ โดยปกติถ้าใช้เฟืองเกียร์ที่มีอัตราการทดรอบสูง ความเร็วรอบของล้อจะต่ำแต่มีกำลังฉุดลากสูง ในทางตรงกันข้าม ถ้าต้องการให้รถแทรกเตอร์วิ่งเร็วที่สุด ก็ต้องใช้เฟืองเกียร์ที่ให้อัตราการทดรอบต่ำหรือไม่ต้องมีการทดรอบเลย เครื่องยนต์หมุนด้วยความเร็วเท่าไร ล้อก็หมุนด้วยความเร็วเท่านั้น ซึ่งในกรณีเช่นนี้ในรถแทรกเตอร์ไม่มีความเร็วสูงถึงขั้นนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อล้อหมุนด้วยความเร็วสูงกำลังฉุดลากก็จะต่ำ
เฟืองท้าย
        เฟืองท้าย เป็นตัวทำให้การหมุนของล้อหลังทั้งสองข้างมีความเร็วรอบต่างกันเมื่อเลี้ยวรถ โดยที่ล้อด้านนอกจะหมุนมากกว่าหรือเร็วกว่าล้อด้านใน
         เมื่อรถแทรกเตอร์วิ่งตรง แรงต้านทานของดินที่กระทำต่อล้อทั้งสองข้างเกือบเท่ากัน ในขณะเลี้ยว แรงต้านทานของดินที่ล้อด้านในจะมากกว่าด้านนอก บางครั้งแม้รถแทรกเตอร์จะวิ่งในทางตรง เฟืองท้ายอาจจะถ่ายทอดกำลังให้กับล้อข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า เช่น ในกรณีที่ล้อข้างหนึ่งลื่นหรือหมุนฟรี หรือติดหล่ม ดังนั้นจึงต้องอาศัยการล็อคเฟืองท้าย
        ระบบล็อคเฟืองท้าย จะทำให้ล้อทั้งสองข้างหมุนไปพร้อมๆกัน ไม่ให้ล้อข้างใดข้างหนึ่งหมุนฟรี
        ข้อดีของการล็อคเฟืองท้ายคือ ทำให้รถแทรกเตอร์สามารถวิ่งได้ดีขึ้น ทั้งบนพื้นดินทราย ดินอ่อน และดินโคลน นอกจากนั้นยังทำให้วิ่งตรงและมีสมรรถนะในการขับเคลื่อนดีขึ้น เช่น ในการไถซึ่งจำเป็นต้องให้ล้อทั้งสองข้างหมุนด้วยความเร็วเท่ากัน ในขณะที่ล้อข้างหนึ่งอยู่ในร่องไถเพื่อให้งานไถสม่ำเสมอ
เพลาอำนวยกำลัง
        รถแทรกเตอร์ส่วนใหญ่จะมีเพลาอำนวยกำลัง สำหรับขับอุปกรณ์ซึ่งจะอยู่ด้านท้ายของรถแทรกเตอร์ แต่รถแทรกเตอร์บางแบบอาจจะมีเพลาอำนวยกำลังเสริมที่ตรงกลาง หรือทางด้านหน้าตัวรถ
        เพลาอำนวยกำลังมี 2 ระบบ ระบบแรกนั้นการหมุนของเพลาอำนวยกำลังจะแยกอิสระจากชุดเกียร์หลัก เรียกว่าเพลาอำนวยกำลังอิสระ เพลาอำนวยกำลังแบบนี้ใช้ขับเครื่องตัดหญ้าเป็นส่วนใหญ่ และอีกระบบนั้นการหมุนของเพลาอำนวยกำลังจะเป็นสัดส่วนกับการหมุนของล้อขับเคลื่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับชุดเกียร์หลักเรียกว่า เพลาอำนวยกำลังสัมพันธ์กับความเร็วรถ ซึ่งนิยมใช้กับเครื่องหยอดเมล็ด
ล้อ
        ล้อของรถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการเกษตรเป็นล้อยาง ล้อหน้า มี ดอกยางเป็นวงกลมเพื่อทำให้การเลี้ยวรถสะดวก ไม่ลื่นไถลออกด้านข้าง ล้อหลัง เป็นล้อขับเคลื่อนที่มีดอกยางใหญ่ซึ่งเอียงทำมุมกับแนวการเคลื่อนที่ของรถ เพื่อทำให้ยึดเกาะดินได้มั่นคง เกิดแรงฉุดลากสูง
        ดอกยางทำด้วยยาง ส่วนในทำด้วยผ้าวางเป็นชั้นๆ เรียงซ้อนกันเพื่อทำให้ยางมีความแข็งแรง ทนทานต่อการกระแทก สำหรับขอบยางด้านติดกับกระทะล้อมีเส้นลวดสปริงฝังอยู่เป็นวงกลมตลอดวงล้อ เพื่อเสริมความแข็งแรง
        ขนาดของยางจะระบุเป็นตัวเลข เช่น 7.50 - 16 เป็นขนาดยางที่ใช้กับล้อหน้าของรถแทรกเตอร์ รถพ่วง โดยที่ตัวเลขตัวแรกหมายถึงความกว้างของหน้ายาง ตัวเลขตัวที่สองคือเส้นผ่าศูนย์กลางของล้อหรือกระทะล้อ ตัวเลขเหล่านี้มีหน่วยเป็นนิ้ว สำหรับล้อหลังนั้นส่วนใหญ่มักจะเขียนเป็นตัวเลขและตัวอักษร เช่น 18.4/15-30 4 PR ซึ่งหมายความว่าความกว้างของหน้ายางเท่ากับ 18.4 นิ้ว สามารถใช้แทนยางขนาดความกว้าง 15 นิ้วได้ โดยที่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของล้อก็คือ 30 นิ้ว และมีชั้นผ้าใบ 4 ชั้น สำหรับชั้นผ้าใบนี้ถ้ายิ่งมีมากยางยิ่งมีความแข็งแรงและรับน้ำหนักได้มากขึ้น ส่วนแรงดันมาตรฐานนั้นจะขึ้นอยู่กับขนาดและจำนวนผ้าใบ ดังที่ปรากฏในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 น้ำหนักที่ยางสามารถรับได้

ภาพ:ดดดด.GIF
        รถแทรกเตอร์ส่วนมากสามารถปรับช่วงล้อหรือระยะห่างระหว่างล้อ 2 ข้าง ได้หลายระยะ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน เช่น ไถ พรวน เป็นต้น การปรับช่วงล้อทำได้โดยการคลายนอตล็อค และเลื่อนคานหน้าออกตามความต้องการ ทั้งนี้จะต้องปรับระยะคันส่งด้วย ส่วนช่วงล้อหลังนั้นปรับได้โดยการกลับด้านกระทะล้อ และเลื่อนตำแหน่งของดุมล้อตามแนวเพลา
ระบบเบรค
        รถแทรกเตอร์มีเบรคเฉพาะ 2 ล้อหลัง โดยที่กลไกเบรคทั้งสองแยกกันอย่างอิสระ ถ้าเบรคข้างซ้ายล้อหลังซ้ายจะหยุด ถ้าเบรคข้างขวาล้อหลังขวาจะหยุด ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเลี้ยววงแคบในขณะทำงานได้ อย่างไรก็ตามเมื่อขับรถแทรกเตอร์บนถนนก็สามารถล็อคให้เบรคทั้งสองข้างทำงานพร้อมกันได้ เพื่อป้องกันรถหมุนกลับพลิกคว่ำขณะที่ใช้ความเร็วสูง
        นอกจากนั้น รถแทรกเตอร์ยังมีเบรคมือ หรือเบรคขณะจอดโดยอาจจะเป็นแบบล็อคคันเหยียบเบรคขณะจอด
         (3) ระบบพ่วงอุปกรณ์
        ระบบพ่วงอุปกรณ์ หรือเครื่องมือทุ่นแรงของรถแทรกเตอร์ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบลาก และแบบติดกับรถ สาเหตุที่มีหลายแบบก็เพราะขนาดของอุปกรณ์ตลอดจนการใช้งานต่างกัน จึงไม่สามารถทำให้ใช้ระบบพ่วงอุปกรณ์แบบเดียวกันได้
        ระบบพ่วงอุปกรณ์แบบลากมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ คานลาก ซึ่งติดอยู่ทางด้านหลังของรถแทรกเตอร์ โดยแบ่งออกเป็นสองแบบคือ แบบติดแน่น และแบบแกว่งได้
        สำหรับระบบพ่วงอุปกรณ์แบบติดกับรถนั้นแบ่งออกเป็น 3 แบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะของการติดอุปกรณ์คือ แบบติดด้านหน้า เช่น ใบมีดดันดินหน้า บุ้งกี๋ตักดิน แบบติดกลาง เช่น เครื่องพรวน เครื่องตัดหญ้า และแบบติดด้านหลัง เช่น จอบหมุน ไถหัวหมู
        การพ่วงอุปกรณ์แบบติดด้านหลัง เป็นที่นิยมใช้มากที่สุด คือระบบพ่วง 3 จุด ซึ่งประกอบด้วยแขนลาก 3 ตัว แขนลากตัวบนหรือแขนกลาง และแขนลากตัวล่างสองตัว แขนลากทั้งสามนี้ยึดติดกับตัวรถโดยใช้บู๊ชตาไก่ จึงทำให้เคลื่อนไหวได้อิสระรอบตัว
        อุปกรณ์ที่พ่วงติดกับปลายแขนลากทั้งสามสามารถเคลื่อนที่ขึ้นหรือลงได้ โดยอาศัยก้านยกที่หิ้วแขนลากสองตัวล่าง ก้านยกจะยก หรือวางแขนลากสองตัวล่างเป็นเหตุให้อุปกรณ์เคลื่อนที่ขึ้นหรือลงด้วย
        ความยาวของแขนกลางสามารถปรับได้ ทำให้สามารถปรับมุมก้ม และเงยของอุปกรณ์ได้ตามความต้องการ ส่วนการปรับมุมเอียงของอุปกรณ์นั้นสามารถทำได้โดยการปรับความยาวของก้านยกด้านขวาที่คันปรับ
        แขนลากสองตัวล่าง จะมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ และมีโซ่กันแกว่งติดอยู่แต่ละข้าง ถ้าไม่ต้องการให้อุปกรณ์แกว่งไปมาในขณะใช้งานก็ปรับโซ่ทั้งสองเส้นให้ตึง
         (4) ระบบไฮดรอลิค
        ระบบไฮดรอลิคของรถแทรกเตอร์สามารถใช้ขับเคลื่อนอุปกรณ์ หรือเครื่องมือทุ่นแรง โดยมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือปั้มไฮดรอลิค หรือกระบอกไฮดรอลิคเพื่อใช้ในการยกและวางอุปกรณ์ ระบบไฮดรอลิคที่สามารถควบคุมตำแหน่งของอุปกรณ์โดยอัตโนมัติเรียกว่าระบบควบคุมตำแหน่ง เพื่อให้ความลึกในการไถสม่ำเสมอ นอกจากนั้นยังมีระบบควบคุมควบคุมแรงลาก เพื่อให้รถแทรกเตอร์มีแรงขับเคลื่อนคงที่ในขณะติดอุปกรณ์แบบพ่วง 3 จุด

ระบบควบคุมตำแหน่ง

        ระบบควบคุมตำแหน่ง ใช้กับอุปกรณ์ที่มีความต้านทานการฉุดลากน้อย เช่น เครื่องพรวนและกำจัดวัชพืช เครื่องหยอดเมล็ดพืชและใส่ปุ๋ย เครื่องปลูกพืช ฯลฯ นอกจากนั้นยังสามารถใช้กับไถหัวหมูขณะทำงานในดินอ่อนและพื้นที่ราบเรียบ
         คันควบคุมตำแหน่งจะควบคุมระบบโดยการยกหรือวางแขนยก ซึ่งทำให้แขนไฮดรอลิคและอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นสัดส่วนกันไปด้วย
ระบบควบคุมแรงลาก
        ระบบควบคุมแรงลาก เหมาะสำหรับการทำงานที่ต้องการให้ความต้านทานในการทำงานของอุปกรณ์คงที่ หรืออุปกรณ์ที่ใช้แรงลากสูง เช่น รถพ่วง
         การควบคุมแรงลากจะมีสปริงเป็นตัวรับสัญญาณ ที่จุดพ่วงของแขนกลาง ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมก้านต่อและวาล์วควบคุม
         แรงที่ถ่ายทอดให้กับตัวรับสัญญาณซึ่งเป็นสัดส่วนกับแรงต้นทานการขับเคลื่อน จะทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองในกลไกวาล์วควบคุมผ่านทางก้านต่อ
        อุปกรณ์จะถูกควบคุมให้อยู่ในตำแหน่งคงที่เมื่อแรงต้านทานการขับเคลื่อนคงที่ แต่เมื่อแรงต้านทานการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง หรือแรงต้านทานดินเปลี่ยนแปลง ตัวรับสัญญาณก็จะส่งสัญญาณใหม่ไปยังกลไกวาล์วควบคุม ซึ่งจะทำให้ลูกสูบในกระบอกไฮดรอลิคเคลื่อนที่ในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับขนาดของแรงขับเคลื่อนที่กำหนดไว้
         ในขณะที่มีการเพิ่ม (หรือลด) แรงต้านทานการขับเคลื่อน จะทำให้ลูกสูบกระบอกไฮดรอลิคเคลื่อนที่เพื่อยก (หรือวาง) อุปกรณ์ การยกหรือวางอุปกรณ์จะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนกระทั่งแรงต้านทานการขับเคลื่อนพอดีกับตำแหน่งคันควบคุม
         การใช้ระบบไฮดรอลิคกับอุปกรณ์ที่ติดตั้งได้ประโยชน์หลายประการ แต่ประการที่สำคัญที่สุดคือ ให้ความสะดวกในการนำอุปกรณ์จากไร่หนึ่งไปยังอีกไร่หนึ่ง อีกทั้งยังทำให้การกลับรถบริเวณท้ายไร่รวดเร็วขึ้น และประหยัดเนื้อที่อีกด้วย
การบำรุงรักษา
        การบำรุงรักษา สามารถทำให้รถแทรกเตอร์มีอายุการใช้งานยืนยาวโดยไม่จำเป็นต้องซ่อมแซมบ่อยๆ การบำรุงรักษามีทั้งที่ทำประจำวันและทำเป็นระยะๆ
        การบำรุงรักษารถแทรกเตอร์ประจำวันเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากละเว้นอาจจะทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ คือแทนที่จะนำรถไปปฏิบัติงานได้ กลับต้องนำไปซ่อมแซม
        นอกจากนั้นระยะเวลาที่รถแทรกเตอร์ หรือเครื่องมือปฏิบัติงานได้เร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาที่ดีและสม่ำเสมอ
การบำรุงรักษาประจำวัน
        การบำรุงรักษาประจำวันทั้ง 9 ประการ ที่จะกล่าวต่อจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
        1. แบตเตอรี่
        2. ระดับน้ำมันเชื้อเพลิง
        3. ระบบระบายความร้อน
        4. น้ำมันเกียร์และน้ำมันเฟืองท้าย
        5. หม้อกรองอากาศ
        6. น้ำมันเครื่อง
        7. ยาง
        8. นอตและสลัก
        9. จุดอัดจารบี
        แบตเตอรี่ ตรวจระดับน้ำกลั่นในแบตเตอรี่ทุกวัน โดยต้องจอดรถแทรกเตอร์บนพื้นราบขณะตรวจ ถ้าระดับน้ำกลั่นต่ำ ก็ถอดฝาปิดออกแล้วเติมน้ำกลั่นลงไปจนได้ระดับ ห้ามเติมน้ำกรด
        ระบบน้ำมันเชื้อเพลิง ควรเติมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เต็มถังตอนเย็นหลังจากเสร็จงานประจำวัน เพื่อพร้อมที่จะทำงานได้ทันทีในเข้าวันรุ่งขึ้น อย่าลืมระวังรักษาให้น้ำมันเชื้อเพลิงสะอาดปราศจากสิ่งสกปรกและน้ำ
        ระบบระบายความร้อน ถ้าเครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยน้ำ น้ำในหม้อน้ำควรจะเต็มตลอดเวลา อย่าให้มีเศษหญ้า ใบไม้ติดอยู่หน้าช่องรังผึ้งหม้อน้ำ และควรจะตรวจความตึงของสายพานให้ถูกต้อง เพราะถ้าสายพานตึงเกินไป จะทำให้ลูกปืนที่ปั้มน้ำและไดนาโมหลวม และเป็นเหตุให้สายพานเสียเร็วอีกด้วย ถ้าสายพานหย่อนเกินไปจะทำให้เครื่องร้อนมาก
        น้ำมันเกียร์และน้ำมันเฟืองท้าย ตรวจสอบระดับน้ำมันเกียร์และน้ำมันเฟืองท้ายในห้องเกียร์ และห้องเฟืองท้ายให้อยู่ถึงขีดสูงของไม้วัดระดับอยู่เสมอ
        หม้อกรองอากาศ ถ้าหม้อกรองอากาศเป็นชนิดแช่น้ำมัน น้ำมันควรจะอยู่ในระดับที่ถูกต้องเสมอ หม้อกรองชนิดนี้จะกรองฝุ่นละอองออกจากอากาศ โดยให้อากาศถูกดูดผ่านน้ำมัน น้ำมันจะจับฝุ่นละอองออกจากอากาศ ฉะนั้นควรจะเปลี่ยนน้ำมันใหม่ทันที (ใช้น้ำมันเครื่อง) ถ้าน้ำมันเปลี่ยนสีเมื่อมีฝุ่นละอองมาก การเปลี่ยนน้ำมันกระทำได้มากกว่า 1 ครั้งต่อวัน ถ้าปฏิบัติงานในสถานที่มีฝุ่นละอองมาก
         น้ำมันเครื่อง การตรวจสอบน้ำมันเครื่องทุกวันมี 2 ประการคือ ตรวจสอบดูว่าระดับน้ำมันเครื่องถูกต้องหรือไม่จากไม้วัดระดับน้ำมัน และตรวจดูสภาพของน้ำมันเครื่อง ถ้าน้ำมันเครื่องดำมากควรจะเปลี่ยนเสียใหม่ ถ่ายน้ำมันเครื่องออกขณะที่เครื่องยังร้อนและรถแทรกเตอร์จอดอยู่บนพื้นที่ราบ
        ยาง ลมในยางล้อหลังควรจะมีความดัน 12 ปอนด์/ตารางนิ้ว ถึง 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว (0.85 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร ถึง 1.05 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร) คือขณะทำงานใช้ความดัน 12 ปอนด์/ตารางนิ้ว และขณะขนส่งใช้ 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว ส่วนล้อหน้าปกติจะใช้ความดัน 25 ปอนด์/ตารางนิ้ว (1.75 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร)
        น๊อตและสลัก เนื่องจากรถแทรกเตอร์มีการสั่นสะเทือนมากขณะปฏิบัติงาน ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้นอตและสลักหลวม ควรจะตรวจสอบทุกวันและขันให้แน่นเสมอ
        จุดอัดจารบี อัดจารบีทุกจุดที่สำคัญทุกวัน ถ้าหัวอัดจารบีอุดตัน ถอดออกมาล้างด้วยน้ำมันเบนซิน ใช้ลมเป่าสิ่งอุดตันออกก่อนที่จะใส่เข้าไปใหม่
         ถ้าการดูแลเอาใจใส่ต่อการบำรุงรักษาประจำวันทั้ง 9 ประการที่กล่าวมาแล้วก็จะทำให้รถแทรกเตอร์มีอายุใช้งานได้นาน
การบำรุงรักษาเป็นระยะๆ
        นอกจากการบำรุงรักษาประจำวันแล้ว ก็มีสิ่งที่ต้องการการบำรุงรักษาเป็นระยะๆ ซึ่งระบุไว้ในหนังสือคู่มือประจำรถ ที่บริษัทผู้ผลิตแจกเมื่อซื้อรถแทรกเตอร์
        การเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง โดยทั่วๆ ไป บริษัทผู้ผลิตรถแทรกเตอร์ จะแนะนำให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องหลังจากปฏิบัติงานประมาณ 120 ชั่วโมง น้ำมันเครื่องที่ใช้ต้องเป็นชนิดเดียวกัน หนังสือคู่มือจะระบุวิธีการล้างไส้กรอง หรือระยะเวลาที่จะต้องเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่อง
        การเปลี่ยนน้ำมันเกียร์และน้ำมันเฟืองท้าย ควรจะเปลี่ยนน้ำมันเกียร์และน้ำมันเฟืองท้ายหลังจากปฏิบัติงานประมาณ 700 ชั่วโมง น้ำมันที่ใช้เติมจะต้องสะอาด มีความข้นและคุณภาพตามที่กำหนดไว้ในหนังสือคู่มือ
         การอัดจารบีปั้มน้ำและการหยอดน้ำมันไดนาโม ปกติบริษัทผู้ผลิตจะแนะนำให้ทำในเวลาเดียวกับการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง แต่ถ้าหยอดน้ำมันไดนาโมมากเกินไปจะเป็นสาเหตุให้ทุ่นของไดนาโมเสียหายได้ แต่ไดนาโมบางชนิดอาจจะไม่ต้องหยอดน้ำมันตลอดอายุการใช้งาน
        การอัดจารบีและขันล้อหน้าให้แน่น การอัดจารบีอัดที่ดุมล้อจนกระทั่งจารบีเก่าไหลออกมาหมด และตรวจสอบล้อให้แน่น ซึ่งปกติแล้วจะแนะนำให้กระทำปีละหนึ่งครั้ง
        การตั้งเบรคและคลัช ควรจะตรวจสอบทุกๆ 2 เดือน หรือตั้งพร้อมกับการเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ และน้ำมันเฟืองท้าย ส่วนวิธีการตั้งให้ทำตามหนังสือคู่มือของรถแทรกเตอร์ การตั้งเบรคคือการตั้งระยะฟรีของขาเหยียบเบรคมิใช่ตั้งที่ตัวเบรค ระยะฟรีนี้จะลดลงขณะที่เบรคทำงานจนร้อน ถ้าระยะฟรีมากเกินไปจะทำให้ขาเหยียบถึงที่วางเท้าก่อนที่เบรคจะทำงานเต็มที่ ส่วนการตั้งคลัชก็เช่นเดียวกัน ถ้าคันเหยียบคลัชไม่มีระยฟรีจะทำให้ผ้าคลัชเสียหาย
        การทำความสะอาดหรือเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง ควรจะทำตามคำแนะนำของหนังสือคู่มือประจำรถแทรกเตอร์ ซึ่งจะระบุวิธีทำความสะอาดและชนิดของไส้กรองที่ใช้การซ่อมแซมเป็นระยะการซ่อมแซมรถแทรกเตอร์เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องกระทำเพราะ
        1. รถแทรกเตอร์มีการสึกหรอตามปกติ แต่จะลดลงได้มากถ้ามีการบำรุงรักษาตามที่กล่าวมาแล้ว
        2. รถแทรกเตอร์อาจจะประสบอุบัติเหตุ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติงานมีความระมัดระวังตลอดเวลาอุบัติเหตุก็ลดลง
        ส่วนสำคัญที่สุดในการทำงานของรถแทรกเตอร์คือ สตาร์ท คันเร่ง พวงมาลัย คลัช คันเกียร์ และเบรคก่อนจะสตาร์ทรถแทรกเตอร์ทุกครั้ง คนขับควรจะนั่งอยู่บนเบาะอย่างเรียบร้อยแล้ว รถแทรกเตอร์ส่วนมากจะมีระบบกลไกเพื่อความปลอดภัย เช่น ปลดเกียร์ให้อยู่ในตำแหน่งว่าง หรือเหยียบคลัชให้จมก่อนจึงสตาร์ทรถติดได้ เป็นต้น
        การขับรถแทรกเตอร์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ดึงเบรกมือให้ตึง
2. ปลดคันเกียร์ให้อยู่ในตำแหน่งว่าง และเหยียบคลัชลงไปให้จนเพื่อลดภาระของมอเตอร์สตาร์ท
3. ตั้งคันเร่งให้อยู่ในตำแหน่งระหว่างเร่ง 3/4 และเร่งสูงสุด
4. กดปุ่มดับให้อยู่ในตำแหน่งสตาร์ท
5. เปิดสวิตช์สตาร์ท
6. บิดสวิตช์สตาร์ท ถ้าเครื่องยนต์ยังสตาร์ทไม่ติดภายใน 30 วินาที ก็ให้ปล่อยสวิตช์สตาร์ทและรออีกประมาณ 30 วินาทีก่อนที่จะสตาร์ทใหม่อีกครั้งหนึ่ง การสตาร์ทบ่อยๆ โดยไม่หยุดทำให้แบตเตอรี่เสียหายได้
7. เหยียบขาคลัชลงให้สุด
8. เข้าเกียร์ที่ต้องการ
9. ปลดเบรกมือลงให้สุด
10. ค่อยๆ ปล่อยขาเหยียบคลัช รถแทรกเตอร์จะเคลื่อนที่ช้าๆ
11. เร่งคันเร่งให้ได้ความเร็วตามที่ต้องการ
12. วางเท้าทั้งสองบนที่วางเท้า
13. บังคับพวงมาลัยไปตามทิศทางที่ต้องการ
        เมื่อจะดับเครื่องยนต์ก็ให้ดึงปุ่มดับไปยังตำแหน่งหยุด ซึ่งมีกลไกต่อไป ตัดน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ให้ไหลไปยังปั้มหัวฉีด แต่รถแทรกเตอร์บางคันอาจจะมีปุ่มดับที่ต้องกดลงถึงจะดับเครื่องได้
        ถ้าจะมีการฝึกขับตามลำดับขั้นตามที่กล่าวมา จะทำให้ขับรถแทรกเตอร์ได้โดยอัตโนมัติ แต่ก็มีข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัยคือ ต้องรู้ว่าเบรคและคลัชอยู่ที่ไหน และควรจะทดลองเหยียบทั้งเบรคและคลัชพร้อมกันก่อนจะติดเครื่อง การเหยียบเบรคและคลัชพร้อมกันเป็นสิ่งแรกที่ควรจะทำเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้น
        หลังจากใช้เวลาฝึกสตาร์ทขับเดินหน้า ถอยหลังและหยุดรถแทรกเตอร์แล้ว การฝึกครั้งต่อไปคือการติดเครื่องมือ
         ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น รถแทรกเตอร์ปัจจุบันนิยมติดเครื่องมือเข้ากับระบบแขนยกอุปกรณ์แบบ 3 จุด
        วิธีการติดเครื่องมือเตรียมดินเข้ากับรถแทรกเตอร์ มีดังต่อไปนี้
1. ติดแขนกลางเข้ากับเครื่องมือและปล่อยทิ้งไว้
2. ลดแขนลาก
3. ถอยรถตรงไปยังเครื่องมือ โดยพยายามเล็งให้จุดกึ่งกลางของล้อหลังทั้งสองตรงกับจุดกึ่งกลางของเครื่องมือ หรือจุดกึ่งกลางของหูหิ้ว หรือบุ๊ชตาไก่ทั้งสองของเครื่องมือ และให้เพลาท้ายของรถขนานกับเครื่องมือ
4. เมื่อแขนยกอุปกรณ์ถึงหูหิ้ว หรือบุ๊ชตาไก่ที่ติดอยู่กับเครื่องมือ หยุดรถเข้าเกียร์ว่าง และดึงเบรคมือ
5. ลงจากรถ
6. ติดแขนลากข้างซ้ายเข้ากับหูหิ้วข้างซ้ายของเครื่องมือ ใส่สลัก
7. ติดแขนลากข้างขวาเข้ากับหูหิ้วข้างขวาของเครื่องมือ ใส่สลัก ถ้าแขนลากสูงหรือต่ำกว่าหู หิ้ว ปรับที่คันปรับระดับ
8. กลับขึ้นไปนั่งบนเบาะรถ และติดแขนกลางเข้ากับรูของหูพิเศษ ที่ท้ายรถ ถ้าไม่ตรงรูอาจจะปรับได้โดยการเลื่อนรถไปข้างหน้าหรือค่อยๆ ใช้ไฮดรอลิคยกเครื่องมือขึ้น
9. ใช้ไฮดรอลิคยกเครื่องมือขึ้นจากพื้น และขับรถออกไปยังที่ปฏิบัติงาน
        ในกรณีที่ขับรถแทรกเตอร์บนถนนควรจะเคารพกฎจารจร ความเร็วสูงสุดที่กฎหมายยอมให้ ใช้ได้คือ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าลากรถพ่วงก็ใช้ไม่เกิน ความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
        เมื่อขับรถแทรกเตอร์บนถนน คนขับรถควรจะตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ให้แน่ใจเสียก่อน
        1. เบรคต้องอยู่ในภาพดี อย่าลืมล็อคเบรคทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน
        2. กระจกส่องหลังต้องสะอาด และอยู่ในตำแหน่งที่มองข้างหลังได้ชัดเจนถึงแม้จะลากรถพ่วงอยู่
        3. ยางและระบบพวงมาลัยอยู่ในสภาพดี
        4. ดวงไฟหน้ารถตลอดจนไฟสัญญาณยังทำงานอยู่อย่างปกติ
รถไถเดินตาม
        ปัจจุบันเกษตรกรชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่หันมานิยมใช้รถไถแบบเดินตามกันมากขึ้น แทนที่จะใช้แรงงานวัวควายอย่างแต่ก่อน รถไถเดินตามที่ใช้ในบ้านเราส่วนใหญ่จะผลิตในประเทศไทย ซึ่งส่วนมากแล้วจะมีโครงสร้างการทำงานแบบง่ายๆ ซึ่งก็มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และลักษณะของงานตามสมควร รถไถเดินตามที่สั่งมาจากต่างประเทศก็มีใช้ แต่ราคาแพงกว่าที่ผลิตในประเทศไทยมาก เกษตรกรจะใช้รถไถเดินตามเป็นต้นกำลังในการไถเตรียมดินเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นแล้วรถไถเดินตามยังสามารถนำไปใช้เป็นต้นกำลังในการทำงานอื่นๆ อีกมาก เช่น ใช้ลากเครื่องปลูกพืชลากจูงรถพ่วงขนถ่ายสิ่งของต่าง ๆ เครื่องยนต์ของรถไถสามารถใช้เป็นต้นกำลังในการฉุดเครื่องสูบน้ำได้อีกด้วย
        ส่วนประกอบของรถไถเดินตามส่วนใหญ่จะมีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกัน ต่างกันแต่เพียงขนาดซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามผู้ผลิต และความนิยมของเกษตรกรในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ส่วนประกอบที่สำคัญของรถไถเดินตาม ได้แก่
โครงแขนยึดเครื่อง
        โครงแขนยึดเครื่องเป็นส่วนเชื่อติดกับห้องเฟือง และเป็นที่วางตำแหน่งของเครื่องยนต์ โดยมีแท่นเครื่องรองรับอีกชั้นหนึ่ง เครื่องยนต์ที่ติดตั้งอยู่บนแท่นเครื่องสามารถเลื่อนไปมาได้ เมื่อคลายนอตที่ยึด
เครื่องยนต์
        เครื่องยนต์ที่ใช้เป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อนรถไถเดินตามส่วนใหญ่ติดเครื่องยนต์เบนซินที่มีขนาด 5-8 แรงม้า หรือเครื่องยนต์ดีเซลที่มีขนาด 8-12 แรงม้า เครื่องยนต์ดีเซลเป็นที่นิยมใช้มากกว่า ถึงแม้ว่าเครื่องยนต์เบนซินจะมีข้อดีที่ราคาต้นทุน และค่าซ่อมบำรุงต่ำ เพราะเครื่องยนต์ดีเซลมีความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งานหนัก ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงถูกกว่า นอกจากนั้นยังให้แรงม้าสูงที่รอบต่ำทำให้อัตราทดของเกียร์ และขนาดของห้องเกียร์ลดลง สำหรับเครื่องยนต์ที่วางอยู่บนโครงแขนยึดเครื่องนั้น สามารถจะเลื่อนไปมาได้ตลอดแนว เพื่อความสะดวกในการปรับตั้งความตึงของสายพานที่ส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังห้องเฟืองอีกด้วย
ห้องเฟือง
        ห้องเฟือง ทำหน้าที่ทดกำลังที่ส่งมาจากเครื่องยนต์ออกไปหมุนล้อโดยอาศัยเฟือง และโซ่ หรือเฟืองเพียงอย่างเดียว แต่ระบบเฟืองและโซ่ในปัจจุบันเริ่มเสื่อมความนิยมใช้ เนื่องจากเมื่อใช้ไปนานๆ โซ่จะหย่อน ต้องมีการปรับความตึงของโซ่บ่อยๆ นอกจากนั้นยังทำให้ห้องเกียร์มีขนาดใหญ่เทอะทะ แต่ข้อดีก็มีคือราคาถูกกว่า
สายพาน
        สายพาน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการส่งกำลังออกจากเครื่องยนต์ไปยังห้องเฟืองผ่านมู่เล่ โดยมีลูกเตะสายพานเป็นตัวที่ทำให้สายพานตึงหรือหย่อน โดยปกติสาวพานที่ใช้มักจะเป็นคู่ เพื่อลดการลื่นที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างสายพานกับมู่เล่ ส่วนมู่เล่นั้นอาจจะเป็นแบบเถา ซึ่งทำให้สามารถเปลี่ยนอัตราทดรอบระหว่างเครื่องยนต์ และห้องเฟืองได้ 2 ขนาด คือ ทดรอบช้า สำหรับไถ และทดรอบเร็ว สำหรับการขนส่งหรือเคลื่อนย้าย
ล้อ
        ล้อของรถไถเดินตาม เป็นล้อที่ทำด้วยเหล็กมีแผ่นครีบติดอยู่ใต้ล้อ ทำให้มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ตีนเป็ด แผ่นครีบนี้ทำหน้าที่ตะกุยดินไม่ให้ลื่นขณะทำงาน นอกจากนั้นยังช่วยพยุงไม่ให้รถไถจมในขณะที่กำลังใช้งานในดินเหลว ล้อเหล็กนี้เหมาะสำหรับทำงานในนา ถ้าเป็นงานในไร่ รถจะกระเทือนมาก ทำให้ผู้ใช้เหนื่อยง่าย ดังนั้น ถ้าจะใช้งานในไร่หรือถนนก็ควรจะใช้ล้อยางหรือเชื่อมวงเหล็กกลมบนแผ่นครีบของวงล้อ
คันบังคับ
        คันบังคับที่สำคัญของรถไถเดินตาม คือ มือจับที่ใช้สำหรับบังคับทิศทาง ซึ่งติดอยู่ปลายโครงแขนที่ต่อออกมาจากหลังห้องเฟือง โครงแขนนี้มักจะฉีกหักเสียหายก่อนส่วนอื่น โดยเฉพาะรถไถเดินตามประเภทผลักเลี้ยว ซึ่งต้องใช้แรงเหนี่ยวโหนขณะเลี้ยวสูง เพราะฉะนั้นโครงแขนนี้จึงยาวกว่าประเภทอื่น ซึ่งเป็นผลทำให้การนำไปใช้งานในแปลงขนาดเล็กไม่สะดวก ถ้าเป็นรถไถประเภทบีบเลี้ยวก็จะมีสายและก้านบีบเลี้ยวอยู่ที่มือจับ ถ้าเป็นรถไถประเภทที่มีเกียร์ก็จะมีคันเกียร์เพิ่มขั้นมา สำหรับส่วนประกอบขั้นพื้นฐาน ซึ่งเหมือนกันก็มีคันเร่งเครื่อง และคันชักลูกเตะสายพาน
        รถไถเดินตามที่นิยมใช้กันอยู่ปัจจุบันนี้ เป็นรถที่ผลิตโดยคนไทย รวมทั้งอุปกรณ์ติดตั้ง และชิ้นส่วนต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
ประเภทผลักเลี้ยว
        รถประเภทนี้ไม่มีระบบช่วยเลี้ยว ถ้าจะเลี้ยวก็ต้องผลักที่มือจับให้รถเลี้ยวไปทางด้านที่ต้องการ ดังนั้นจึงเหมาสำหรับการไถในแปลงเพราะปลูกที่มีขนาดใหญ่เพราะไม่มีการเลี้ยงรถบ่อยๆ รถไถเดินตามประเภทนี้แบ่งออกเป็นแบบ 3 เพลา และ 4 เพลา ในที่นี้จะหมายถึงเพลาที่อยู่ในห้องเฟือง แต่โดยเหตุที่ว่าขนาดของห้องเฟืองมีขนาดเท่าๆ กัน รถไถแบบ 4 เพลา จึงมีระยะห่างระหว่างเพลาน้อยกว่าแบบ 3 เพลา จึงทำให้โซ่ขาดง่ายกว่าแบบ 3 เพลา แต่แบบ 4 เพลามีข้อดีคือ อัตราทดรอบรอบระหว่างเพลาแต่ละคู่ต่ำกว่าแบบ 3 เพลา ทำให้ประสิทธิภาพของการส่งกำลังดีกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น